21 เมษายน 2550

ไผ่


มนต์มารุตร่ายบรรเลงบทเพลงไผ่
กิ่งก้านไกวเสียดเสนาะเพราะผสาน
ว่าหวีดหวิวพลิ้วพรมอารมณ์สราญ
เกิดกวีกลอนกานท์ล้านทำนอง

บ้างเอนไหวโยกย้ายคล้ายระบำ
บ้างกระแทกกระทบทำจังหวะก้อง
ยามปลิดใบลานเหลืองเรืองดั่งทอง
ช่างชวนมองม่านงามตามลมปลิว

หลายหลากใบร่วงหล่นบนผืนน้ำ
คล้ายหลากลำเรือน้อยลอยพื้นผิว
จัดขบวนยุตยาตรวาดแถวทิว
ละแล่นลิ่วล่องไหลในธารา

จึงจารภาพพร้อมเสียงสำเนียงศิลป์
ครั้งเคยยินชมชื่นรื่นหนักหนา
ตราตรึงร้อยถ้อยคำพร่ำพรรณา
เพื่อรักษาสืบไว้ในรอยจำ



-------------------------------------------------------------------------------
นานนักจะชมธรรมชาติได้สักครั้ง
สุดท้ายก็วาดความหวังอย่างตั้งใจลงบนผืนแผ่นกระดาษจนได้
สำหรับ 'ไผ่' ได้นำเสนอต่อเพื่อนผองน้องพี่ครั้งแรกในบ้านกลอนไทย
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ยามเช้านั้น

อีกครั้งที่นำความภูมิใจมาเสริมสร้างในช่องว่างของใจ
เมื่อ 'ไผ่' ได้ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในสิบบทกลอนเพื่อพิมพ์เป็นหนังสือ
เพื่อเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในวิชาการประพันธ์ร้อยกรอง (prose writing)
เป็นผลให้ผู้แต่งได้รับเกรดที่ดีจากการศึกษา
อีกทั้งยังได้รับคำวิจารณ์จาก อ.สุพรรณ ทองคล้อย (แรคำ ประโดยคำ)
ว่า 'ไผ่' นั้นเป็นผลงานที่ดีที่สุดในสิบผลงานนั้น

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เอกเขียนกลอน บรรเลง บทเพลงใจ
หัสทยาใว้ หวั่นไหว พริ้วลม
อาจเหมือน คลื้นเครง บรรเลงผสม
ควรค่านิยม คำชม กลอนดี ดี

ของบ๊วยนะเอก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เสียงเสียดสีอี้อ้อของกอไผ่
เหมือนดั่งบอกอะไรให้รู้สึก
กว่าจะเป็นกอใหญ่ไชรากลึก
กี่ค่ำคืนดืนดึกลองนึกดู

กี่ร้อนหนาวข่าวสารผ่านกระแส
ความผันแปรสับสนของคนผู้
ความไม่สามัคคีเท่าที่รู้
หากมีอยู่เหมือนไผ่ไม่แตกกอ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เมื่อม่านไผ่ร้อยเรียงเป็นเสียงประสานนั้น บทเพลงแห่งไผ่ได้สอดประสานทำให้เกิดความรู้หวาบหวามใจ ใจหนึ่งก็รู้สึกหวิวๆ ใจหนึ่งก็รู้สึกร่าเริง เนื่องจาก "ว่าหวีดหวิวพลิ้วพรมอารมณ์สราญ" แต่ "ไผ่"ในที่นี้คงจะดูเป็นไผ่ที่ร่าเริงและแรกแย้ม การที่ไผ่สามารถ "โยกย้ายคล้ายระบำ...จัดขบวนยุตยาตรวาดแถวทิว.." ความรู้สึกของไผ่คงจะสดชื่นสดใส และกระปรี้กระเปร่า เสียงของไผ่นั้นทำให้ใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟังเสียงทำนองของไผ่พลอยที่จะเริงระบำไปตามจังหวะที่ "กระแทกกระทบทำจังหวะก้อง" ความงามของไผ่นั้นไม่เพียงแต่จะมีเสียงไพเราะดุจเครื่องดนตรีจากธรรมชาติแล้วนั้นไผ่ยามร่วงยังเป็น"ยามปลิดใบลานเหลืองเรืองดั่งทอง" ความงามของไผ่แม้จะปลิดร่วงโรยราไปตามธรรมชาติยังให้ความงามแก่ป่า ประหนึ่งผู้คนเมื่อถึงเวลาโรยราสังขาร มีแต่เพียงคุณงามความดีของมนุษย์เราที่ยังคงไว้ประดุจไผ่ที่ร่วงโรยแต่ยังให้ความงามแก่ธรรมชาติ
แม้ "ไผ่" จะไม่ได้ให้ปรัชญาชีวิตมากมายดังบทกวีทั่วไป แต่ "ไผ่" กลับให้ความงามทางสุนทรียภาพ การเลือกใช้คำนั้นทำให้ได้รู้สึกถึงความเงียบของป่าที่มีแต่เสียงของใบไผ่เสียดสีกันเป็นท่วงทำนอง หากใครเคยได้อ่านบทกวีที่ชื่อ "วารีดุริยางค์" จะพบว่าบทกวีทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันอย่างหนึ่งคือ เสียงของไผ่นั้นให้จังหวะเป็นดนตรี แต่ "วารีดุริยางค์"นั้นเน้นความสงบของป่า ของไผ่ ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต แต่บทกวี "ไผ่" กลับให้ความรู้สึกร่าเริง แรกแย้ม เป็นเสียงแห่งความเริ่มต้น ไม่ได้เป็นเสียงแห่งวาระสุดท้ายอย่าง "วารีดุริยางค์"
โวหารภาพพจน์ของ “ไผ่” นั้นคงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้อ่าน การใช้บุคลาธิษฐาน คือทำให้สิ่งไม่มีชีวิตกลับมีชีวิตเหมือนมนุษย์ การที่ใช้ต้นไผ่ให้เสียงของดนตรี คงเป็นไปได้ว่าการเสียดสีของใบไผ่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ ในบางครั้งอาจจะเกิดเสียงที่น่ากลัว บางครั้งเกิดเสียงที่คล้ายเสียงดนตรี ดังนั้นเสียงของไผ่จึงน่าจะทำให้เกิดความรู้สึกใดรู้สึกหนึ่งก็เป็นได้ ดังที่กวีได้กล่าวไว้ว่า “มนต์มารุตร่ายบรรเลงบทเพลงไผ่ กิ่งก้านไกวเสียดเสนาะเพราะผสาน ว่าหวีดหวิวพลิ้วพรมอารมณ์สราญ เกิดกวีกลอนกานท์ล้านทำนอง” ภาพพจน์อีกประการหนึ่งนั้น คือ อุปลักษณ์ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง กล่าวคือ กวีได้เปรียบ “อารมณ์” ให้เป็นดัง “พรม” กล่าวคือ อารมณ์ที่พลิ้วไหว อ่อนนุ่ม เหมือนกับพรม “ว่าหวีดหวิวพลิ้วพรมอารมณ์สราญ”
การใช้เลือกใช้คำที่ให้ความรู้สึกขัดแย้งในช่วงแรก "ว่าหวีดหวิวพลิ้วพรมอารมณ์สราญ" หวีดหวิวนั้นให้ความรู้สึกถึงความเหงา เศร้า และน่ากลัว แต่เมื่ออารมณ์เหล่านี้ผสมปนเปกลับมีอารมณ์สราญ ฟังดูแล้วเหมือนเป็นบ้า แต่ลองนึกดูอารมณ์ที่เราขัดแย้งในตัวเองมากๆ ไม่รู้ว่าเรากำลังเป็นอะไร เราก็อดนึกขำตัวเองไม่ได้ ไม่เพียงแต่ให้อารมณ์เท่านั้นการเลือกใช้คำนั้นยังให้ภาพที่เห็นถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มไผ่ “บ้างเอนไหวโยกย้ายคล้ายระบำ บ้างกระแทกกระทบทำจังหวะก้อง” การเคลื่อนไหวของไผ่นั้นไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ หากแต่เคลื่อนไหวอย่างกระชับ คือ ไผ่ได้กระทบกระแทกทำจังหวะและมีเสียงก้อง นอกจากนั้น “ไผ่”ในป่านี้ยังมีระเบียบดูราวกับภาพที่ออกมานั้นดูจงใจให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูสง่างาม “หลายหลากใบร่วงหล่นบนผืนน้ำ คล้ายหลากลำเรือน้อยลอยพื้นผิว จัดขบวนยุตยาตรวาดแถวทิว ละแล่นลิ่วล่องไหลในธารา” ขบวนยุตยาตรวาดแถวทิว คงจะเป็นภาพที่ชัดเจน เพราะการเคลื่อนของไผ่นั้นดูเหมือนการเดินคือไม่ได้ลอยมาตามน้ำนิ่งๆแต่กลับดูเหมือนเดินมาคือมีขึ้นๆลงๆตามคลื่นของลำธาร เพราะคำว่า ยุต หมายถึง เดิน และ ยาตร ก็หมายถึง เดิน ภาพของใบไผ่ที่ค่อยลอยๆกระทบคลื่นของลำธารค่อยๆไหลไปไกลขึ้นไกลขึ้น กวีไม่เพียงแต่จำจดความงดงามของธรรมชาติไว้เพียงความทรงจำแต่หากได้ “จาร” ภาพของสิ่งที่เห็นไว้อย่างจงใจ การจารนั้นเป็นการสลักรอยประทับของความประทับใจไว้กับความทรงจำและจิตใจที่เต็มไปด้วยความอิ่มเอมของเสียงอันพิณพาทย์ไพรอย่างซาบซึ้ง สิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งสุดท้ายคือ เสียงของไผ่ที่ไหลไปตามน้ำและคำพร่ำพรรณนาของกวีที่จดจำความงามของ “ไผ่”